โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2454 โดยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อสร้างเสร็จ พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2457 นับตั้งแต่โรงพยาบาลได้เปิดดำเนินการก็มีการจัดตั้งหมวดรักษาโรคหู และหมวดรักษาโรคจมูกและคอ โดยมีหลวงโกศลเวชชศาสตร์ (เกี้ยว ชนเห็นชอบ) เป็นแพทย์ผู้ช่วยทางด้านหมวดรักษาโรคหู และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นโสตรแพทย์ ส่วนหมวดรักษาโรคจมูกและคอ ไม่พบหลักฐานว่าเป็นท่านผู้ใด อย่างไรก็ตาม มีห้องมืดที่ตึกผ่าตัด ซึ่งมีเครื่องมือสำหรับตรวจตา หู คอ จมูก พร้อม ห้องดังกล่าวอยู่ติดกับห้องตรวจและผ่าตัดตา เป็นที่ใช้ตรวจทั้งทางหู จมูก คอ (และตา)

ในปี พ.ศ. 2466 หลวงโกศลเวชชศาสตร์ ได้ย้ายไปเป็นศัลยแพทย์ หลวงแพทยโกศล (ขำ รักกุศล) ซึ่งได้ไปศึกษาทางหู คอ จมูก ที่ประเทศอังกฤษอยู่ประมาณ 2-3 ปี จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นโสตรแพทย์แทน โดยมีหลวงจรุงเจริญเวชช์ (จรุง ปาณฑุรังคานนท์) เป็นโสตรแพทย์ผู้ช่วย ต่อมาหลวงแพทยโกศล ได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการวชิรพยาบาล หลวงจรุงเจริญเวชช์ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นโสตรแพทย์ประจำโรงพยาบาลแทน

ในปี พ.ศ. 2477 หมวดโสตรกรรม (ไม่พบหลักฐานว่าก่อตั้งหรือเปลี่ยนแปลงมาจากหมวดรักษาโรคหู หมวดรักษาโรคจมูกและคอตั้งแต่เมื่อใด) และหมวดจักษุกรรม ได้รวมกันเป็นฝ่ายจักษุ โสต นาสิกวิทยา มี พันโทหลวงประจักษ์เวชสิทธิ์ เป็นหัวหน้า แต่การทำงานก็ยังคงแยกเป็นอิสระต่อกันทั้งแพทย์และพยาบาล

ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ได้มีพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2490 ประกาศตั้งคณะแพทยศาสตร์ขึ้นในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และให้บังคับใช้ในวันที่ 4 มิถุนายน 2490 ฝ่ายจักษุ โสต นาสิกวิทยา จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกจักษุวิทยา และแผนกโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา

ในปี พ.ศ. 2507 ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาหลายท่าน ได้บริจาคทรัพย์สร้างตึกจุมภฏพงษ์บริพัตรขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต และมอบให้เป็นสำนักงานและตึกรับผู้ป่วยของแผนก โดยแบ่งออกดังนี้

  • ชั้นล่าง เป็นห้องผ่าตัด 2 ห้อง แยกกันระหว่างผู้ป่วยหู คอ จมูก และผู้ป่วยตา และยังมีห้องตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่น ๆ ห้องประชุม และห้องทำงานของแพทย์และพยาบาลชั้นล่าง เป็นห้องผ่าตัด 2 ห้อง แยกกันระหว่างผู้ป่วยหู คอ จมูก และผู้ป่วยตา และยังมีห้องตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษอื่น ๆ ห้องประชุม และห้องทำงานของแพทย์และพยาบาล
  • ชั้นที่สอง เป็นหอผู้ป่วยแผนกโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
  • ชั้นที่สาม เป็นหอผู้ป่วยแผนกจักษุวิทยา

ในปี พ.ศ. 2513 สภาการศึกษาแห่งชาติอนุมัติให้แยกแผนกออกเป็นแผนกวิชาจักษุวิทยา และแผนกวิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา โดยมี รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชูช่วง เศวตรุนทร์ เป็นหัวหน้าแผนกท่านแรก

ในปี พ.ศ. 2515 ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาหลายท่านได้บริจาคเงินสร้างตึกพันธุ์ทิพย์ขึ้นคู่กับตึกจุมภฎพงษ์บริพัตร ให้กับแผนกทั้งสอง ทางแผนกจึงได้ย้ายห้องผ่าตัดจากตึกจุมภฏพงษ์บริพัตรไปที่ตึกพันธุ์ทิพย์ชั้นสอง ในตึกนี้นอกจากห้องผ่าตัดแล้ว ยังมีห้องประชุม ห้องตรวจพิเศษต่างๆ และห้องทำงานของแพทย์และพยาบาล

ในปี 2516 ภาควิชา (แผนกวิชา) โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับความไว้วางใจจากแพทยสภาให้เปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยาได้ โดยมี นายแพทย์คเณศร์ แวววิจิต เป็นแพทย์ประจำบ้านคนแรก

ต่อมาในส่วนของคณะแพทยศาสตร์ ได้เปลี่ยนชื่อจากแผนกวิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา เป็นภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา แต่ไม่พบหลักฐานว่าเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เมื่อใด และได้เปลี่ยนชื่อภาควิชาใหม่เป็นโสต ศอ นาสิกวิทยา เมื่อปี พ.ศ. 2546 ภาควิชาได้มีความเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ มี หัวหน้าภาควิชาปฏิบัติงานเป็นลำดับดังรายนามต่อไปนี้

  1. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชูช่วง เศวตรุนทร์ พ.ศ. 2513-2521
  2. รองศาสตราจารย์นายแพทย์โกศล เลขวัต พ.ศ. 2521-2525
  3. รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงอัญชัน วิไลรัตน์ พ.ศ. 2525-2533
  4. รองศาสตราจารย์นายแพทย์วีรพงษ์ ศาสตรสาธิต พ.ศ. 2533-2537
  5. ศาสตราจารย์นายแพทย์อำนวย คัจฉวารี พ.ศ. 2537-2544
  6. รองศาสตราจารย์นายแพทย์คเณศร์ แวววิจิต พ.ศ. 2544-2551
  7. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ภาคภูมิ สุปิยพันธุ์ พ.ศ. 2551-2555
  8. รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศิริพรชัย ศุภนคร พ.ศ. 2555 – 2558
  9. ศาสตราจารย์แพทย์หญิงเสาวรส  ภทรภักดิ์ พ.ศ. 2558 – 2562
  10. รองศาสตราจารย์นายแพทย์เพิ่มทรัพย์ อิสีประดิฐ พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน
ปรับปรุงล่าสุด : 13 ธันวาคม 2024